Peak: there’s always a path to achieve your dream

Krantharat Krongsiriwat
2 min readOct 6, 2019

Peak: How all of us can achieve extraordinary things

ตื่นเต้นและมีความหวัง เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นทุกครั้งตอนที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้รู้ว่า “มีเส้นทางสำหรับคนที่มีฝันเสมอ”

หนังสือเล่มนี้ช่วยคลายความข้องใจว่า ทำไมบางคนถึงโดดเด่นกว่าคนอื่น ไม่ใช่เพราะโชคชะตา ไม่ใช่เพราะความสามารถที่ติดตัวมาแต่เกิด แต่ความ “โดดเด่น” ที่เห็นเป็นผลลัพธ์ของการ “ฝึกฝน” เป็นผลลัพธ์ของการ “สละ” เวลาในการทำบางอย่างที่สนุกเพื่อให้ได้มาซึ่งเวลาของการฝึกฝน และการฝึกฝนนี้ ถ้าให้เดา คงจะไม่ผิดจาก Deliberate practice ที่หนังสือเล่มนี้เล่าถึงไปสักเท่าไหร่

แนวทางของ Deliberate practice ที่หนังสือเล่มนี้แนะนำนั้น

  • เริ่มจากการหาครูที่ดี ซึ่งจะทำให้เราก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะครูรู้ว่าแนวทางที่ถูกต้องคืออะไร สามารถให้ Feedback และช่วยแนะนำแนวทางการฝึกเพื่อปรับปรุงจุดอ่อนของเราได้
  • กรณีที่ไม่มีครู ก็ต้องหาทางฝึกฝนเอง โดยหลักการคือ Fs = Focus, Feedback, Fix it ฝึกฝนโดยที่ทำซ้ำๆ แต่ต้องโฟกัสว่าทำไม่ถูกต้องตรงไหนและพยายามที่จะแก้ไขมัน อาจจะต้องลองหลายๆ วิธีเพื่อหาวิธีที่ได้ผล อาจจะแบ่งเป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่าเราต้องปรับปรุงตรงไหน วิธีหนึ่งที่ใช้ในการฝึกฝน คือ พยายามเลียนแบบคนเก่งๆ เช่น ถ้าเราอยากเขียนได้เก่งๆ ก็ให้เอางานเขียนของคนเก่งๆ มา แล้วจดใจความสำคัญไว้ จากนั้นก็เอาใจความสำคัญ มาเขียนเป็นงานอีกชิ้น จากนั้น เปรียบเทียบงานของเรากับงานเขียนต้นฉบับและดูว่าควรต้องปรับปรุงตรงไหน เป็นต้น การพัฒนานั้นมีความเกี่ยวพันกับ Action มากกว่าแค่คิดเฉยๆ ในที่นี้หมายถึง เราต้องฝึกเขียนซ้ำๆ
  • มีความตั้งใจในการฝึก เช่น ฝึกว่ายน้ำ เราควรจะโฟกัสกับการเคลื่อนไหวของเรา มากกว่าว่ายไปเรื่อยๆ ซึ่งการจะรักษาระดับความตั้งใจของเราในการฝึกเป็นเรื่องที่ใช้พลัง ดังนั้น อาจพักเพื่อให้สามารถฝึกฝนต่อได้ หรืออาจตั้งเป้าว่าจะฝึกเป็นช่วงสั้นๆ พร้อมกับเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้พัฒนาทักษะได้เร็วขึ้น

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญว่าเราจะพัฒนาไปได้ไกลขนาดไหนนั้น ขึ้นกับว่า เรายินดีหรือพอใจที่จะอยู่ในระดับใดมากกว่า ถ้าเราฝึกฝนจนถึงความสามารถในระดับที่เรา “ยอมรับได้” เราก็จะหยุดพัฒนา แต่ถ้าเราไม่ยอมรับและเชื่อว่า เราทำได้ดีกว่านี้ เราจะหาทางทำมันให้ดีขึ้นและพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ เช่น การเล่นเทนนิส ในช่วงแรกที่เราเรียน เราฝึกซ้อม เราจะเห็นความก้าวหน้าชัดเจน จนกระทั่งเราเริ่มเล่นตอบโต้แบบอัตโนมัติได้แล้ว แม้จะมีจุดอ่อนอยู่บ้าง แต่เราก็โอเคกับมัน เราเริ่มหยุดพัฒนาทักษะ (ถึงแม้ว่าเราจะเล่นอีก 5 ปี 10 ปีก็ตาม) แต่ถ้าเราไม่พอใจกับมัน เราจะหาทางเรียนรู้วิธีที่จะปกปิดจุดอ่อนนี้ และพัฒนาต่อไปได้

ระหว่างทางของการฝึกฝน ก็คงมีถอดใจกันบ้าง เพราะแม้แต่ Expert เอง ยังมองว่า การซ้อมเป็นเรื่องไม่สนุก ดังนั้น เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะสร้างแรงจูงใจในการฝึกฝนด้วย

  • หาเหตุผลที่จะทำต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลภายใน เช่น เห็นตัวเองพัฒนาขึ้น ความเชื่อมั่นว่าเราทำได้ หรือเหตุผลภายนอก เช่น การชื่นชมจากคนอื่น รวมทั้ง การแวดล้อมด้วยคนที่สนับสนุนเราในเส้นทางนั้นหรือมีสังคมที่ไว้คอยพึ่งพากันในเรื่องนั้นๆ ก็ทำให้เรามีแรงที่จะฝึกฝนต่อไปได้มากขึ้นด้วย อีกอย่าง คือ แบ่งการฝึกฝนของเราเป็นเป้าเล็กๆ และโฟกัสไปทีละเป้า เพื่อให้เรารู้สึกถึงความก้าวหน้า ซึ่งจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราพัฒนาต่อไปอีกได้
  • เลิกหาข้ออ้างที่จะไม่ฝึก ด้วยการวางแผนเวลาฝึกไว้เลย และเวลาที่จะมาฝึกต้องเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีภาระอื่นหรืออุปสรรคอื่น (จะได้อ้างไม่ได้) และเมื่อเราทำไปเรื่อยๆ แล้วจนเคยชิน การฝึกฝนก็จะเป็นเรื่องง่าย

การฝึกฝนเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังงานสูง ดังนั้น ควรพักผ่อนให้เพียงพอและรักษาสุขภาพ รวมทั้งจำกัดชั่วโมงการฝึกให้อยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นการฝึกที่มีประสิทธิภาพ

ถึงแม้หนังสือเล่มนี้ จะไม่เห็นด้วยกับกฎ 10000 ชั่วโมง ที่บอกว่า การจะสำเร็จในด้านใดๆ ก็ตาม ต้องใช้เวลาฝึกอย่างน้อย 10000 ชั่วโมง แต่หนังสือเล่มนี้ ก็ยังเชื่อว่า การจะประสบความสำเร็จนั้น ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเป็นระยะเวลาหนึ่ง (หลายปี)

ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบ กลับมาอ่านคำนิยมตรงหน้าปกอีกครั้ง

“This book … could truly change the world.” — Joshua Foer

นั่นสินะ…

“At least, it changes mine.” — Me

Peak: How all of us can achieve extraordinary things by Anders Ericsson and Robert Pool https://www.amazon.com/Peak-Secrets-New-Science-Expertise-ebook/dp/B019CH3M10

--

--